สแกน พระราชกำหนดป้องกันอาชญากรรมไซเบอร์ ฉบับใหม่ ผู้เสียหายต้องแจ้งธนาคารก่อนแจ้งตำรวจ ให้อำนาจแจ้งความทุกช่องทาง สกัดเงินออกนอกประเทศ วอนประชาชนที่เปิดบัญชีม้าให้ไปยกเลิกก่อนโดนแจ้งจับจำคุก 2-5 ปี ปรับตั้งแต่ 200,000-500,000 บาท
วันที่ 19 มีนาคม 2566 เมื่อวันที่ 17 มี.ค.ที่ผ่านมา มีการประกาศบังคับใช้ พ.ร.ก. มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 ซึ่งได้ปลดล็อกอำนาจให้ประชาชนผู้เสียหาย และเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้ามาสกัดเส้นทางการเงินของมิจฉาชีพออนไลน์ ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมากต่อประชาชน
- ราชกิจจาฯประกาศ อัตราผลประโยชน์เงินบำเหน็จชราภาพ ผู้ประกันตน ม.40
- ทุนใหญ่ สารสิน-มหากิจศิริ เปิดสายการบินใหม่รับท่องเที่ยวฟื้น
- แกร็บ บาลานซ์ 4 เสาธุรกิจ พลิกทำกำไรโฟกัสเติบโตยั่งยืน
“ประชาชาติธุรกิจ” ได้เรียบเรียงข้อกฎหมายนี้ใหม่ เพื่อเป็นประโยชน์แก่ประชาชนที่ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพออนไลน์ ให้ดำเนินการตามลำดับขั้นตอนที่ พรก. ฉบับนี้ให้อำนาจไว้
ขั้นตอนแรก แจ้งธนาคารที่ใช้บริการให้เร็วที่สุด
หากมีความสงสัยว่าตกเป็นเหยื่อการหลอกลวง หรือการโดนแฮกหรือโดน “ดูดเงิน” ให้ติดต่อธนาคาร “ทันที” ทั้งทางโทรศัพท์มือถือ สาขา หรือแอปพลิเคชั่น
จากนั้นธนาคารจะระงับธุรกรรมดังกล่าวเป็นเวลา 7 วัน โดยสมาคมธนาคารไทย ได้ร่วมมือกันแบ่งปันข้อมูลบัญชีผู้กระทำผิดข้ามธนาคารโดยอัตโนมัติอยู่แล้ว ดังนั้นหากมีการแจ้งและรับเรื่องเร็วและระงับธุรกรรมได้ทันท่วงที เงินของผู้เสียหายจะยังไม่ออกจากประเทศไทยไป และสามารถติดตามกลับได้
อย่างไรก็ตาม ระบบการระงับธุรรกรรมยังไม่เป็นอัตโนมัติ จึงยังมีความล่าช้าในการปิดเส้นทางการเงินกรณีที่มิจฉาชีพโอนเงินข้ามไปต่างธนาคาร ซึ่งระบบออโตเมชันจะเสร็จสมบูรณ์เร็วๆ นี้
ขั้นตอนที่สอง แจ้งความร้องทุกข์ภายใน 72 ชั่วโมง
กฎหมายดังกล่าวให้อำนาจธนาคารระงับธุรกรรมไว้ “ชั่วคราว” ได้ “ทันที” ต่างจากอดีตที่การระงับธุรกรรมต้องขอคำสั่งหรือใบแจ้งความจากเจ้าหน้าที่ทางกฎหมาย เพื่อยืนยันว่าเป็นธุรกรรมที่ผิดกฎหมาย
ดังนั้น การให้อำนาจแก่ผู้ร้องทุกข็และธนาคารระงับธุรกรรมเพื่อยื้อเวลาให้ผู้เสียหายได้เข้าไปร้องทุกข์ต่อเจ้าหน้าที่ได้ที่สถานีตำรวจทุกแห่งทั่วประเทศ แม้เหตุไม่ได้เกิด ณ ท้องที่นั้นๆ จากเดิมที่มักประสบปัญหาว่าเจ้าพนักงานปฏิเสธการร้องทุกข์เนื่องจากการกระทำผิดเกิดคนละท้องที่ สร้างความลำบากให้กับประชาชนในการเดินทางไปแจ้งความ
นอกจากนี้ ประชาชนสามารถแจ้งความร้องทุกข์ผ่านช่องทางออนไลน์ที่ ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (thaipoliceonline.com)
จากนั้นพนักงานสอบสวน จะเข้าไปตรวจสอบและพิสูจน์ตัวตนของผู้ร้องทุกข์ว่าเป็นผู้เสียหายจริงหรือไม่ เป็นเจ้าของบัญชีจริงหรือไม่ เพื่อป้องกันการกลั่นแกล้งและแจ้งความเท็จ ขั้นตอนนี้ใช้เวลาไม่เกิน 7 วัน
จากนั้นหลักฐานจากจากการร้องทุกข์จะสามารถนำไปแจ้งระงับธุรกรรมถาวรในบัญชีธนาคาร (กรณีที่เงินยังไม่ออกไปนอกระบบธนาคาร) และบัญชีมิจฉาชีพปลายทางจะถูกขึ้นเป็นบัญชีดำและเพิกถอนต่อไป
พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. (ผู้บัญชาการตำรวจไซเบอร์) กล่าวว่า พ.ร.ก.ดังกล่าว ให้อำนาจผู้เสียหายสามารถแจ้งความกับพนักงานสอบสวนได้ทั่วประเทศ หรือผ่านระบบการรับแจ้งความออนไลน์ ซึ่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะเตรียมความพร้อมในส่วนพนักงานสอบสวนและระบบการรับแจ้งความออนไลน์ ให้รองรับ
“ประการแรกเราได้ออกหนังสือแจ้งเวียนแก่ทุกสถานีทั่วประเทศ ประการที่สองกฎหมายให้อำนาจผู้แจ้งความตามสมัครใจ และประการสุดท้าย ผบ.ตร.ได้ให้งบประมาณในการอบรมและพัฒนาตำรวจทั่วประเทศแล้ว”
ก่อนนี้ การแจ้งความร้องทุกข์มีความยากลำบาก เพราะเจ้าหน้าที่สอบสวนไม่สามารถทำงานข้ามเขตท้องที่ได้ แต่ได้มีการกำชับแล้วว่าให้รับเรื่องแจ้งความอาชญากรรมออนไลน์ไว้ทั้งหมด แล้วให้เจ้าพนักงานสอบสวน ไปพิสูจน์ตัวตนว่าเป็นผู้เสียหายจริงหรือไม่ตามเขตท้อฃที่ที่รับผิดชอบ แต่ย้ำว่าผู้เสียเเจ้งความที่ไหนก็ได้
พล.ต.ท.วรวัฒน์ กล่าวด้วยว่าจากการที่ ผบ.ตร. ได้กำชับเจ้าหน้าที่ทุกท้องที่แล้ว ดังนั้นหากเห็นว่า เจ้าหน้าที่ไม่รับแจ้งความอาชญากรรมออนไลน์ถือว่ามีความผิด ดังเช่นที่เกิดก่อนหน้านี้ที่ สน.สามเสน
นอกจากนี้สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะได้กวดขันจับกุมผู้กระทำความผิดฐานเปิดบัญชีม้าและซิมม้า รวมถึงผู้เป็นธุระจัดหาหรือโฆษณาบัญชีม้าและซิมม้ามาดำเนินคดีต่อไป
เตือนคนรับจ้างเปิดบัญชีม้า-ซิมม้า มี “แบล็คลิสต์” แล้วนับหมื่นราย
พล.ต.ท.วรวัฒน์ กล่าวว่า จากการแบ่งปันข้อมูลของหน่วยงานต่างๆ 7 หน่วยงาน ทำให้พบเห็นความผิดปกติในการทำธุรกรรม หรือบัญชีที่เข้าข่าย “บัญชีม้า” ที่อาศัยคนอื่นเปิดบัญชีบังหน้า ซึ่งได้มีการขึ้นบัญชีดำแล้วหลายหมื่นราย
ตามมาตรา 9 ของ พรก.นี้ การเปิดหรือยอมให้ผู้อื่นใช้บัญชีเงินฝากหรือหมายเลขโทรศัพท์ของตนเอง (“บัญชีม้า” เพื่อใช้กระทําความผิด) มีโทษจําคุก 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท
ส่วนบทลงโทษตามมาตรา 10 และ 11 การเป็นธุระจัดหาหรือโฆษณาเพื่อให้มีการ ซื้อ ขาย เช่า ยืม บัญชีเงินฝาก/หมายเลขโทรศัทพ์ (เพื่อใช้กระทําความผิด) มีโทษจําคุก 2 – 5 ปี หรือปรับ 200,000 – 500,000 บาท
“ขอเตือนพี่น้องประชาชนที่รับจ้างเปิดบัญชีม้า ซิมม้า ให้รีบไปยกเลิกหรือปิดบัญชีเสีย เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจว่าไม่ได้มีไว้เพื่อสนับสนุนอาชญากรรมไซเบอร์”
อย่างไรก็ตาม หากมีการเรียกดำเนินคดี การพิสูจน์ความผิดจะดูว่ามีการนำบัญชีนั้นมีคงามเกี่ยวข้องกับอาชญากรรม หรือแม้แต่มีการยินยอมให้ผู้อื่นใช้บัญชีของตนย่อมส่งผลต่อความรับผิดของเจ้าของบัญชี
นอกจากนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยและสมาคมธนาคารไทย ยังได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีไบโอเมตริกซ์สำหรับการทำธุรกรรมบนแอปพลิเคชั่น รวมถึงการกำหนดการโอนเงินขั้นต่ำ จะทำให้ทางการสามารถตรวจจับความผิดปกติในการทำธุรกรรมได้ดียิ่งขึ้น และจะมีการพบบัญชีม้ามากยิ่งขึ้น
ตัวอย่างเช่นการโอนเงินเกินวันละ 20,000 ต้องแสกนใบหน้า มิจฉาชีพอาจไปใช้วิธีค่อยๆ โอนที่ละเล็กละน้อยแต่ก็ถี่ขึ้น ซึ่งข้อมูลการโอนถี่ๆ ที่ผิดปกติเหล่านี้จะถูกตรวจจับและแบ่งปันข้อมูลระหว่างหน่วยงานจำนวนมากเพื่อระบุพฤติการณ์ว่าอาจเป็นมิจฉาชีพ เพื่อยับยั้งการโอนเงินออกนอกระบบธนาคารไทยให้ทันท่วงที
อย่างไรก็ตาม พล.ต.ท.วรวัฒน์ ย้ำว่า ปัญหาสำคัญของการป้องกันเงินไหลออก คือ ความรวดเร็วในการแจ้งระงับธุรกรรม แม้ธนาคารจะมีระบบที่รวดเร็วแต่ประชาชนอาจจะรู้ตัวช้าและเงินได้โยกย้ายออกไปแล้ว
นายวิทยา นีติธรรม ผู้อำนวยการกองกฎหมาย สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (สำนักงาน ปปง.) กล่าวว่า ได้มีการเตรียมพร้อมเพื่อรองรับการปฏิบัติตามพระราชกำหนดฉบับนี้ โดยใช้ศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ในการรองรับข้อมูลที่ได้จากธนาคารและสำนักงานตำรวจแห่งชาติตามพระราชกำหนดฉบับนี้
และสำนักงาน ปปง. ยังได้ร่วมประชุมกับสมาคมธนาคารไทยและสำนักงานตำรวจแห่งชาติมาโดยตลอดในเรื่องของระบบการรับส่งข้อมูลให้มีประสิทธิภาพและความรวดเร็ว นอกจากนี้ได้ร่วมมือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติเพื่อจัดทำรายชื่อบุคคลที่มีความเสี่ยงว่าเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดมูลฐานหรือการฟอกเงินจัดส่งให้กับธนาคารเพื่อเฝ้าระวังและระงับช่องทางการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์
“กรณีตรวจสอบพบว่าเข้าข่ายบัญชีม้าหรือคาดว่าจะเป็นบัญชีม้าเพื่อไม่ให้ถูกใช้ในการกระทำความผิดต่อไป สำนักงาน ปปง. อยากให้ความมั่นใจกับทุกภาคส่วนว่าจะให้ความร่วมมือและดำเนินการอย่างเต็มที่เพื่อแก้ไขปัญหาอาชญากรรมทางเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นกับประชาชนให้หมดไป”
สรุปสาระสำคัญ พรก.ป้องกันอาชญากรรมไซเบอร์ พ.ศ.2566
พ.ร.ก.นี้ เป็นความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐกว่า 7 องค์กรในการแลกเปลี่ยนข้อมูลและร่วมกำหนดแนวทางป้องกันอาชญากรรมไซเบอร์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสอบสวนคดีพิเศษ สำนักงาน กสทช. ธนาคารแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ตลอดจนผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ (โอเปอร์เรเตอร์)
โดยมีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เป็นหัวหอกในการนำมาตรการต่างๆ เข้าสู่ ครม. เพื่อออกเป็นพระราชกำหนดบังคับใช้ โดยสาระสำคัญ คือการอนุญาติให้หน่วยงานต่างๆ เข้าถึงและแลกเปลี่ยนข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชน “ตามสมควร” เพื่อระงับยับยั้งความเสียหายหรืออาชญากรรมไซเบอร์
มาตรา 4 เมื่อมีเหตุอันควรสงสัยเกี่ยวกับการกระทําความผิดอาชญากรรมเทคโนโลยีสถาบันการเงิน ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์/อินเทอร์เน็ต และผู้ให้บริการอื่นที่เกี่ยวข้อง สามารถเปิดเผยแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันได้สะดวกรวดเร็ว ผ่านระบบ/กระบวนการที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้หน่วยงานรัฐ เช่น ตํารวจสามารถ นําข้อมูลดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ในการจัดการอาชญากรรมทางเทคโนโลยีได้ทันท่วงที
เนื่องจากที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ธนาคาร ไม่มีอํานาจในการเปิดเผยแลกเปลี่ยนข้อมูลของ
ประชาชน ทําให้ไม่สามารถช่วยแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ กฎหมายนี้จะสร้างระบบให้หน่วยงานต่างๆ ทํางานร่วมกันได้อย่างสะดวก รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
มาตรา 5 เมื่อมีเหตุอันควรสงสัยเกี่ยวกับการกระทําความผิดฯ ตํารวจ DSI หรือ ปปง. สามารถขอรับข้อมูลที่
เกี่ยวข้องจากผู้ให้บริการโทรศัพท์/อินเทอร์เน็ตได้สะดวกรวดเร็วขึ้น
เนื่องจากที่ผ่านมาการขอรับข้อมูลจากผู้ให้บริการใช้ระยะเวลานาน ติดขัดกฎระเบียบต่างๆ ทําให้แก้ปัญหาให้ประชาชนได้ไม่ทันท่วงที พ.ร.ก. นี้ จะช่วยลดขั้นตอนและระยะเวลาในการขอข้อมูลได้เป็นอย่างมาก
มาตรา 6 หากมีเหตุอันควรสงสัยว่า บัญชีใดเกี่ยวข้องกับการกระทําความผิดฯ ธนาคารสามารถระงับการทํา
ธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับบัญชีดังกล่าวได้ทันที (ระงับไว้ได้ไม่เกิน 7 วัน) และสามารถแจ้งต่อให้ธนาคารอื่นระงับ
ธุรกรรมที่เกี่ยวข้องได้ด้วย
นอกจากนี้ หาก ตํารวจ หรือ ปปง. เป็นผู้พบเหตุฯ ก็สามารถแจ้งธนาคารให้ระงับการทําธุรกรรมได้ทันทีเช่นกัน ทั้งนี้ หากพ้น 7 วันแล้ว ไม่มีหลักฐานเอาผิดได้ ให้ธนาคารยกเลิกการระงับการทําธุรกรรมดังกล่าว
ที่ผ่านมาธนาคารตํารวจ และ ปปง. จะสามารถระงับบัญชีได้ก็ต่อเมื่อมีผู้เสียหายแจ้งความ และมีขั้นตอนต่างๆ ทําให้ไม่สามารถระงับบัญชีต้องสงสัยได้ทันท่วงที พ.ร.ก. นี้ จะช่วยให้ธนาคารตํารวจ และ ปปง. ทํางานเชิงรุกเพื่อตรวจจับและระงับบัญชีต้องสงสัยได้ก่อนเกิดเหตุ ซึ่งเป็นการตัดช่องทางกระทําความผิดของอาชญากร)
มาตรา 7 หากประชาชนซึ่งเป็นผู้เสียหายเป็นผู้แจ้งว่า บัญชีใดอาจเกี่ยวข้องกับการกระทําความผิด ธนาคารสามารถระงับบัญชีนั้นได้ทันที (ระงับไว้ได้ไม่เกิน 7 วัน) และธนาคารสามารถแจ้งข้อมูลต่อให้ธนาคารอื่นทราบเพื่อระงับบัญชีอื่นที่เกี่ยวข้องต่อไป โดยประชาชนผู้เสียหายต้องไปแจ้งความภายในภายใน 72 ชั่วโมงเพื่อเป็นหลักฐาน และพนักงานสอบสวนจะต้องดําเนินการเกี่ยวกับบัญชีดังกล่าวภายใน 7 วัน หากไม่มีคําสั่งให้ระงับการทําธุรกรรมไว้ต่อไป ให้ธนาคารยกเลิกการระงับการทําธุรกรรมของบัญชีนั้น
ที่ผ่านมาธนาคารประสบปัญหาในการแจ้งระงับบัญชีต้องสงสัย เนื่องจากมีขั้นตอนมากโดยต้องรอให้ประชาชนแจ้งความร้องทุกข์ และมีคําสั่งจากเจ้าหน้าที่ตํารวจให้ระงับบัญชีหรือการทําธุรกรรมนั้น
เสียก่อน ทําให้ธนาคารไม่สามารถระงับบัญชีต้องสงสัยได้ทันท่วงที
พ.ร.ก. นี้ จะช่วยให้ธนาคารสามารถระงับบัญชีหรือธุรกรรมต้องสงสัยได้ทันทีที่ได้รับแจ้งจากประชาชน ทําให้ประชาชนแจ้งระงับบัญชีต้องสงสัยได้อย่างสะดวกรวดเร็ว
มาตรา 8 สามารถแจ้งธนาคารทางโทรศัพท์หรือทางอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้ (ไม่ต้องทําหนังสือเป็นทางการหรือกรอกแบบฟอร์ม) นอกจากนี้ การแจ้งความเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี สามารถแจ้งที่กองบัญชาการตํารวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือสถานีตํารวจใดก็ได้ทั่วประเทศ (ไปที่สถานีตํารวจ หรือแจ้งทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้)
มาตรา 9 การเปิดหรือยอมให้ผู้อื่นใช้บัญชีเงินฝากหรือหมายเลขโทรศัพท์ของตนเอง (เพื่อใช้กระทําความผิด) มีโทษจําคุก 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท
มาตรา 10 และ 11 การเป็นธุระจัดหาหรือโฆษณาเพื่อให้มีการ ซื้อ ขาย เช่า ยืม บัญชีเงินฝาก/หมายเลขโทรศัทพ์(เพื่อใช้กระทําความผิด) มีโทษจําคุก 2 – 5 ปี หรือปรับ 200,000 – 500,000 บาท
การเรียบเรียงนี้เพื่อเผยแพร่ข้อมูลให้ประชาชนได้รับทราบโดยย่อเท่านั้น หากต้องการอ้างอิงข้อกฎหมายควรศึกษาจากพระราชกําหนดฯ ฉบับทางการ
cr.https://www.prachachat.net/ict/news-1235879